"Think of Value, Always ...Act upon Value with Margin of Safety ...Be Patient and Emotionally Neutral"
วันเสาร์, มีนาคม ๑๐, ๒๕๕๐
ฟิลิป อาร์เธอร์ ฟิชเชอร์ กับ 15 กฏเกณฑ์ที่ใช้เลือกหุ้น
การลงทุนที่สร้างชื่อเสียงแก่ฟิชเชอร์มากที่สุด คือ การลงทุนซื้อหุ้นบริษัทมอโตรอล่า ซื่งเป็นบริษัทผลิตวิทยุที่เขาซื้อเมื่อปี 1955 และถือไว้ตราบจนกระทั่งตัวเองถึงแก่กรรมในเดือน มีนาคม 2004 รวมอายุขัย 96 ปี
ผู้ที่เป็นสาวกทำตามแบบอย่างของฟิชเชอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ วอร์เร็น บัฟเฟตต์
การประเมินการลงทุน
ฟิชเชอร์ ได้แนะนำวิธีประเมินบริษัทที่จะลงทุนโดยตั้งคำถามไว้ 15 ข้อ - คำถามเหล่านี้ตั้งขึ้นมาใช้สำหรับซักไซ้ไล่เรียงหาคำตอบจาก ผู้ส่งป้อนสินค้าต่างๆ, คู่แข่งทั้งหลาย และเหล่าผู้บริโภค:
1. บริษัทมีสินค้าหรือบริการที่มีศักยภาพในตลาดเพียงพอซึ่งเป็นไปได้ว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายไปได้อย่างน้อยอีกหลายๆปีหรือไม่
2. ผู้บริหารมีความมุ่งมั่นที่จะยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือขบวนการผลิตใหม่ขึ้นมาทดแทนสายของผลิตภัณฑ์เดิมที่เป็นที่ต้องการตลาดเดิมขณะนี้แต่ส่วนใหญ่ถูกช่วงชิงเอาศักยภาพการเติบโตดังกล่าวไป ทั้งนี้เพื่อว่าผลิตภัณฑ์ใหม่จะได้เป็นตัวเพิ่มศักยภาพการขายโดยรวมของบริษัทให้เติบโตต่อไปหรือไม่
3. เมื่อเทียบกับขนาดของบริษัทแล้วฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความทุ่มเทเอาจริงเอาจังอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่
4. องค์กรฝ่ายขายของบริษัทมีความสามารถสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปหรือไม่
5. บริษัทสามารถทำกำไรในอัตราส่วนที่ดีพอหรือไม่
6. บริษัทได้กำลังทำอะไรเพื่อรักษาคงอัตรากำไรไว้หรือปรับปรุงเพื่อทำให้อัตรากำไรสูงขึ้นกว่าเดิมอยู่หรือไม่
7. บริษัทมีการสร้างความสัมพันธ์กับแรงงานและบุคคลากรได้ยอดเยี่ยมหรือไม่
8. บริษัทมีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริหารได้ยอดเยี่ยมหรือไม่
9. บริษัทมีจำนวนบุคคลากรที่มีปัญญา เฉลี่ยวฉลาดและรู้จริงร่วมงานกับผู้บริหารหรือไม่
10. บริษัทมีการวิเคราะห์ต้นทุนและควบคุมระบบบัญชีได้ดีเพียงใด
11. เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับคู่แข่งในวงการอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทมีสิ่งบ่งบอกอย่างอื่นทางธุรกิจที่แตกต่างออกไปที่พอจะทำให้ผู้ลงทุนใช้เป็นตัวชี้นำสำคัญๆที่จะบ่งชี้ได้ว่าบริษัทมีความโดดเด่นเหนือกว่าอย่างไรหรือไม่
12. เมื่อพิจารณาในเรื่องของการทำกำไร บริษัทมีการมองภาพการทำกำไรแบบช่วงสั้นๆ หรือ แบบช่วงยาวๆ
13. ในอนาคตอีกไม่นานบริษัทจำเป็นต้องเพิ่มทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นเพื่อนำไปขยายกิจการสร้างการเติบโตกับบริษัท ซึ่งที่สุดแล้วการเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อแลกกับการเติบโตที่คาดหวังไว้จะเป็นตัวการทำให้ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่เคยได้รับหมดไปหรือไม่
14. เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างราบรื่นผู้บริหารพูดคุยกับนักลงทุนอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่บริษัทกระทำลงไปแต่ในทางตรงกันข้ามกลับปิดบังอำพรางเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นและผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่หวัง หรือไม่
15. ผู้บริหารของบริษัทมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างไม่มีที่ติ หรือไม่
ที่มา http://www.answers.com/topic/philip-arthur-fisher
วันอังคาร, มีนาคม ๐๖, ๒๕๕๐
สิ่งสำคัญที่นักลงทุนทั้งหลายไม่พึงกระทำ
ในการลงทุนนั้น การหยุดการสั่งซื้อมีความสำคัญพอๆกับการสั่งซื้อ ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำจาก ฟิลิป ฟิชเชอร์ ในเรื่องที่คุณไม่พึงกระทำ
1.อย่าเน้นในเรื่องการกระจายความเสี่ยงมากจนเกินเหตุ
ที่ปรึกษาการลงทุนหลายๆคนและสื่อสารด้านการลงทุนได้อธิบายความถึงข้อดีของการกระจายตวามเสี่ยงโดยยกเอาประโยคที่น่าสนใจจดจำง่ายนี้ขึ้นมาพูดอยู่เสมอๆ " อย่าใส่ไข่หลายๆฟองของท่านไว้ในตระกร้าใบเดียว" อย่างไรก็ตาม ฟิชเชอร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ท่านใส่ไข่หลายฟองของท่านไว้ในตระกร้าใบโน้นบ้างใบนี้บ้าง ก็ไม่แน่เสมอไปว่าไข่ทั้งหมดทุกฟองจะอยู่ในที่ปลอดภัยดี อีกทั้งยังยากต่อการเฝ้าติดตามดูไข่ทุกฟองนั้น
ฟิชเชอร์,เป็นผู้ซึ่งถือหุ้นไม่เกิน 30 ตัวเป็นอย่างมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของอาชีพ,มีคำตอบที่ดีกว่าดังนี้คือ ให้เสียสละเวลาค้นคว้าและทำความเข้าใจบริษัทหนึ่งๆอย่างถ้วนถี่และถ้าหากเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทดังกล่าวเข้าเกณฑ์ 15 ข้อที่เขาตั้งเป็นเกณฑ์กำหนดไว้ครบถ้วน คุณควรที่จะลงทุนในปริมาณมากๆ ฟิชเชอร์ เห็นด้วยกับคำพูดของ มาร์ค ทเวน ที่ว่า "ใส่ไข่ทั้งหมดทุกฟองของคุณไว้ในตระกร้าใบเดียว และเฝ้าดูแลตระกร้านั้นให้ดี"
2. อย่าแห่ตามฝูงชน
การเฮโลไปกับฝูงชนโดยลงทุนในหุ้นที่กำลังอยู่ในความนิยม อย่างเช่น หุ้นกลุ่ม"นิฟตี้ ฟิฟตี้"(หุ้น 50 ตัวที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนสถาบัน)ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 หรือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี่ ในช่วงปลายทศวรรษปี 1990 เป็นอันตรายต่อสุขภาพการเงินของคุณได้ ในทางตรงกันข้าม การค้นคว้าหาข้อมูลในกลุ่มที่ฝูงชนละเลยไม่ให้ความสนใจก็สามารถสร้างผลกำไรให้สูงมากๆได้ ครั้งหนึ่ง เซอร์ ไอแซ๊ค นิวตัน เคยพูดยอมรับอย่างเศร้าใจว่า เขาสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆที่ตกมาจากท้องฟ้าได้ แต่กับความบ้าคลั่งของฝูงชนเขาไม่อาจจะทำได้ ฟิชเชอร์ต้องเห็นด้วยอย่างจริงใจกับคำกล่าวนี้
3. อย่าคิดเล็กคิดน้อย
หลังจากได้ศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง และคุณได้พบบริษัทที่คุณมั่นใจว่าจะเจริญเติบโตอย่างแน่นอนในช่วง 10 ปีข้างหน้า และราคาหุ้นปัจจุบันเสนอขายในราคาเหมาะสม คุณควรจะรอหรือละเว้นการลงทุนของคุณเพื่อให้ราคาลงมาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้นอีกซักไม่กี่เพนนีดีกว่า?
ฟิชเชอร์ได้เล่าให้ฟังเรื่องนักลงทุนที่ชำนิชำนาญคนหนึ่งที่ต้องการจะซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งซึ่งในวันนั้นราคาหุ้นปิดที่ 35.5 เหรียญต่อหุ้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนผู้นี้ตั้งใจว่าจะไม่ซื้อหุ้นตัวนั้นจนกว่าราคาจะลดลงมาอยู่ที่ 35 เหรียญ หุ้นตัวนี้ไม่เคยมีราคาต่ำกว่า 35 เหรียญอีกเลยหลังจากนั้น และต่อมาอีก25 ปีมูลค่าของหุ้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 เหรียญต่อหุ้น นักลงทุนผู้นี้พลาดโอกาสที่จะได้ส่วนต่างราคาที่มากมายมหาศาลไปอย่างน่าเสียดายเพียงแค่ต้องการประหยัดต้นทุนอีก 50 เซนต์ต่อหุ้น
แม้แต่วอร์เร็น บัฟเฟตต์เองก็มักจะปล่อยให้เกิดความผิดพลาดทางจิตใจในแบบนี้เช่นกัน บัฟเฟตต์ เคยเริ่มซื้อวอลมาร์ท เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น แต่ก็หยุดซื้อเมื่อราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย บัฟเฟตต์ยอมรับว่าความผิดพลาดอันนี้ทำให้เบิร์กชัวร์ แฮทธาเวย์สูญเสียกำไรที่ควรจะเป็นไปราว 1 หมื่นล้านเหรียญ แม้แต่นักทำนายผู้ปราดเปรื่องแห่งโอมาฮา ยังน่าได้รับประโยชน์จากข้อแนะนำของฟิชเชอร์ข้อนี้ที่ว่าอย่าคิดเล็กคิดน้อย
ที่มา