วันพฤหัสบดี, ธันวาคม ๑๓, ๒๕๕๐

พอร์ตโฟลิโอที่สมบูรณ์แบบของพาไบร

25 มิถุนายน 2550

ตามที่บอกว่าพอร์ตโฟลิโอของพาไบรสมบูรณ์แบบนั้นหาใช่เพราะในพอร์ตมีหุ้นอะไรอยู่บ้าง หากแต่น่าจะหมายถึงการจัดเงินลงทุนทั้งหมดไว้ในพอร์ตอย่างไรเสียมากกว่า พาไบรเป็นผู้ร่วมบริหารกองทุนพาไบร(Pabrai Investment Funds)ซึ่งเป็นกองทุนขนาด 500 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากผลงานด้านผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในอัตราสูงถึง 29%ต่อปีแล้วพาไบรยังได้ออกแบบพอร์ตการลงทุนด้วยแนวคิดที่ยอดเยี่ยม

ได้มีการใช้เวลาอย่างมากมายและประมาณไม่ได้เพื่อศึกษาค้นหาว่าหุ้นตัวใดที่น่าลงทุนบ้าง แต่การใช้เวลาคิดทบทวนว่าราคาควรอยู่ที่เท่าใดนั้นพบว่าใช้กันน้อยมาก โดยปกติการตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมักอาศัยความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อหุ้นตัวนั้นๆเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นบางอย่างที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ข้อเท็จจริงก็คือบางครั้งการตัดสินใจซื้อ ณ ที่ราคาใดราคาหนึ่งก็สามารถส่งผลกระทบต่อพอร์ตโฟลิโอพอๆกับการที่จะเลือกซื้อตัวไหน ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าควรจะเลือกซื้อหุ้นตัวใดนั้นพบมีอยู่ดาษดื่นแต่ข้อมูลที่บ่งบอกว่าควรซื้อที่ราคาเท่าใดพบมีอยู่น้อยมากๆ

พาไบรจึงได้พัฒนาทฤษฎีใหม่ที่เรียกว่า"ทฤษฎีพอร์ตโฟลิโอ"เพื่อใช้กำราบความรู้สึกต่างๆอันข้องเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของตนเองซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะเชื่อถือวางใจได้นั้น ผมขอเรียกเจ้าพอร์ตเช่นนี้ว่า "พอร์ตโฟลิโอสิบคูณสิบ" โดยเป็นการลงทุนในหุ้น 10 ตัวด้วยการกระจายเงินทุนไว้ในหุ้นแต่ละตัวๆ 10 เปอร์เซนต์ของพอร์ต ตามปกติพาไบรถือหุ้นชนิดต่างๆกันอยู่ระหว่าง 7 ถึง15 ตัว แต่ก็พยายามให้ใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐานสิบคูณสิบ กองทุนก็ทำได้ยากเหมือนกันที่จะเกลี่ยกระจายสัดส่วนการลงทุนให้ลงตัวสมบูรณ์แบบ เพราะหุ้นบางตัวราคาขยับขึ้นไปเรื่อยๆก่อนที่จะซื้อได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ หรือเป็นเพราะหุ้นที่ซื้อไว้แต่เดิมได้มีการขยับของราคาสูงขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พอร์ตโฟลิโอที่จัดสรรแบบสิบคูณสิบยังมีผลกระทบที่ไม่เด่นชัดมากนักอีกประการ ก็คือ การตั้งเกณฑ์มาตรฐานโดยใช้อัตราส่วนเป็นเปอร์เซนต์นี้จะทำให้มั่นใจได้ว่านักลงทุนเองต้องมีความมั่นใจสูงมากพอที่จะนำเงินในพอร์ต10%เข้าไปลงทุน ถ้าความมั่นใจยังไม่มากพอเขาก็ไม่ควรที่จะลงทุนเลยแม้แต่น้อย สรุปง่ายๆก็คือ พอร์ตโฟลิโอเช่นนี้ออกแบบมาเพื่อทำให้มั่นใจว่านักลงทุนจะต้องลงทุนในหุ้นที่ถูกศึกษากลั่นกรองมาและลงความเห็นว่าดีที่สุดเท่านั้น

ก็อย่างที่บัฟเฟตต์พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า:
" เมื่อคิดจะลงทุนก็ให้เสแสร้งว่าในชีวิตนี้คุณมีบัตรที่มีช่องสำหรับตอกเพื่อการลงทุนแค่ 20 ช่อง และแต่ละครั้งที่คุณตัดสินใจลงทุนก็ให้ตอกบัตร 1 ช่องทุกครั้ง เท่ากับเป็นการสร้างวินัยแก่ตัวคุณเองว่าต้องลงทุนแต่ในหุ้นที่คุณมีความเชื่อมั่นแบบสุดๆเท่านั้น"

ยิ่งไปกว่านั้นพอร์ตโฟลิโอที่ประกอบไปด้วยหุ้น 10 ตัวก็ถือได้ว่ามีความกระจุกตัวพอที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดโดยรวมได้ แต่ก็ไม่ถือว่ากระจุกตัวเกินไปจนถึงขั้นที่ว่าหากเลือกหุ้นผิดตัวเพียงตัวเดียวก็ถึงกับทำให้เกิดความอัปปางของกองทุนทั้งกองได้ พาไบรยอมรับว่าเขารู้ตัวเองดีว่ายังเป็นผู้ตัดสินใจที่ดีไม่เท่าเมื่อเทียบกับวอร์เร็น บัฟเฟตต์ผู้ซึ่งเมื่อตอนอายุน้อยเขาตัดสินใจลงทุนความมั่งคั่งของเขาเองเกือบทั้งหมดไว้ในหุ้น GEICO ฉะนั้นถ้าหากพาไบรผิดพลาดกองทุนที่เขาบริหารก็จะยังสามารถทำผลงานได้ดี เขาเองก็ได้เคยผิดพลาดมาแล้วในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังสร้างผลตอบแทนได้เกือบ 30%ต่อปีหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว

พาไบรได้แนะนำพอร์ตโฟลิโอตัวอย่างไว้เมื่อคราวจัดประชุมผู้ถือหุ้นกองทุนของเขาประจำปี 2005 เขาได้แสดงข้อมูลต่อไปนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าพอร์ตโฟลิโอแบบสิบคูณสิบจะยังคงสร้างผลงานที่ดีแม้จะมีการตัดสินใจผิดพลาดอย่างแรงในหุ้นบางตัว

เงินลงทุน ผลตอบแทน
หุ้นถือครอง 1 $100 $10
หุ้นถือครอง 2 $100 $50
หุ้นถือครอง 3 $100 $100
หุ้นถือครอง 4 $100 $100
หุ้นถือครอง 5 $100 $180
หุ้นถือครอง 6 $100 $180
หุ้นถือครอง 7 $100 $180
หุ้นถือครอง 8 $100 $200
หุ้นถือครอง 9 $100 $200
หุ้นถือครอง 10 $100 $300

รวม $1000 $1500

เขายังได้อธิบายต่อไปอีกว่า ถ้าหากผลตอบแทนข้างต้นต้องอาศัยเวลานาน 3 ปีเพื่อบรรลุผลก็เท่ากับว่ากองทุนดังกล่าวสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีในอัตรา14.5% หากว่าใช้เวลาเพียง 2 ปีเพื่อให้บรรลุผลตอบแทนระดับนี้ก็เท่ากับว่ากองทุนให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 22.5%ต่อปี และถ้าใช้เวลาแค่เพียงปีเดียวก็เท่ากับว่าผลตอบแทนที่ได้ คือ 50%

แนวคิดอีกประการของพาไบร ก็คือ "ฐานพักเงินช่วยคราว" (Placeholder) โดยความเป็นจริงแล้วเขาเชื่อว่าการปล่อยให้เงินอยู่ในธนาคารเฉยๆมีความเสี่ยงเพราะมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าเงินดอลล่าร์จะลดลง หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์บอกได้เลยว่าเป็นความจริง เพื่อขจัดความเสี่ยงนี้ออกไปพาไบรเชื่อว่าเราควรนำเงินสดไปลงทุนในที่ๆบางแห่งที่ปลอดภัยและสร้างมูลค่าของผลตอบแทนในระดับที่สูงพอ ปัจจุบันเขาก็อาศัย Berksire Hathaway เป็น"ฐานพักเงินชั่วคราว" โดยรอจนกว่าเขาจะค้นหาพบหุ้นที่มีราคาที่ถูกกว่า การนำเงินไปไว้ในมือของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกดูเหมือนว่าเป็นแนวความคิดที่ดีกว่าปล่อยเงินไว้ในธนาคาร

ผลตอบแทนจากการใช้ฐานพักเงินชั่วคราวในอดีตเทียบเป็นอัตราต่อปีอยู่ที่ราว116% ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ปี 2004 ขณะที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ 40 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล พาไบรได้เริ่มเข้าซื้อหุ้น Canadian Oil Sands ซี่งบริษัทนี้ถือหุ้น Syncrude อยู่ 35% ราคาหุ้นยังคงต่ำกว่ามูลค่าแท้จริงเกินกว่า 25%เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในขณะนั้น และก็ปรากฏว่ามีการประเมินค่าบริษัทไว้ ณ ราคาที่ราวกับว่าราคาน้ำมันจะไม่มีทางขยับขึ้นอีกเลย โดยความเป็นจริงแล้วพาไบรจึงตัดสินใจถอนเงินสดออกมาและซื้อน้ำมันมันดิบสำรองแทน ณ ราคา 30 ดอลล่าร์ ทั้งนี้เขาเชื่อว่านี่"เป็นวิธีการป้องกันความเสี่ยงต่อการลดลงของมูลค่าเงินดอลล่าร์ด้วยสินค้าประเภทคอมมอดิตี้ที่ได้ผล"

เขาเริ่มซื้อหุ้น ณ ราคา 48 ดอลล่าร์ 81 เซนต์ ตลอดช่วงเวลาเฉลี่ย 14 เดือนพาไบรได้รับผลตอบแทน 145%

วิธีการที่มีเหตุผลของเขาช่างง่ายดายและน่าประทับใจ ถ้าราคาน้ำมันไม่ขยับขึ้นเลยพาไบรก็ยังได้รับเงินปันผลจากกิจการซึ่งก็ถือว่าไม่เลว กรณีถ้าราคาขยับขึ้นไปที่ 40 หรือ 50 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ก็เท่ากับว่าเขาประสบผลสำเร็จอย่างมาก ดังที่ทราบกันปรากฏว่าราคาน้ำมันได้ไต่ระดับขึ้นไปถึงราว 60 ดอลล่าร์และพาไบรได้เริ่มทยอยขายออกมา เขาได้ลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยและมีคนเทขายออกมา ณ ราคาที่มีส่วนลดมากๆแล้ว และก็มีตัวเร่งที่จะทำให้ราคาสูงขึ้นในอนาคต พาไบรรู้ดีว่าดอลล่าร์น่าจะมีมูลค่าลดลงในช่วงเวลาต่อจากนั้นไปและเขาได้พัฒนาแนวความคิดในอันที่จะปกป้องกองทุนของเขาจากความเสี่ยง เขาได้เลือกที่จะซื้อคอมมอดิตี้หรือบริษัทต่างๆที่มีความปลอดภัยเพื่อคอยดูแลเงินสดของเขาที่ได้ผลดีกว่า

โดยความเป็นจริงแล้วข้อสุดท้ายของพอร์ตโฟลิโอของพาไบรก็คือ แนวคิดข้อแรกที่เขาพูดถึงเมื่อทำการศึกษาค้นคว้าการลงทุนและมีความเหมาะเจาะเฉพาะกับกองทุนเพื่อการลงทุนพาไบรได้เป็นอย่างดี

ในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2004 พาไบรได้อธิบายสิ่งที่เขาตั้งชื่อว่า "ปัจจัย เยลโลว์สโตน" โดยเขาอธิบายว่าจริงๆแล้วสวนสาธารณะแห่งชาติเยลโลว์ศโตนก็คือภูเขาไฟขนาดมหึมานั่นเอง ซึ่งหากอ้างอิงตามสถิติแล้วจะมีการปะทุระเบิดขึ้นทุกๆ 6 แสนปีต่อครั้ง ซึ่งความรุนแรงของการระเบิดนี้สูงมากพอที่จะทำลายล้างชีวิตมนุษย์ทั้งหมดได้ในอาณาบริเวณ 700 ไมล์ และก็ปรากฏว่าเวลาผ่านมา 6 แสน 3 หมื่นปีแล้วนับจากการปะทุระเบิดครั้งที่แล้วก็ยังไม่มีการปะทุระเบิดขึ้นเลยจนถึงขณะนี้

ดังนั้นพาไบรจึงอธิบายว่า ไม่ว่าความเป็นได้ของการที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีอยู่เพียงระดับน้อยนิดเพียงใดก็ตาม ก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเสมอ เขาชี้แนะต่อไปอีกว่าในโลกนี้ไม่มีธุรกิจใดที่ปลอดจากความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิง เท่ากับว่ามีเยลโลว์สโตนอยู่เสมอ

ก่อนที่พาไบรลงทุนอะไรก็ตาม เขาจะให้ความสนใจอย่างจดจ่อต่อปัจจัยต่างๆที่สามารถทำให้การลงทุนต้องประสบกับความสูญเสียของเงินต้นที่นำเข้าไปลงทุนอย่างมีนัยสำคัญเป็นอันดับแรกเสียก่อน เขาเชื่อว่าการประมาณการอย่างง่ายๆหรือการทำบัญชีบนหลังซองจดหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ความเป็นไปได้ของความเสี่ยงอื่นๆทำนองเดียวกันก็สามารถนำมาพิจารณาประกอบร่วมด้วยเช่นกัน เช่น การตกแต่งและช่อฉนทางบัญชี

ขณะที่ความเหมือนกันของการปะทุระเบิดของเยลโลว์สโตนเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ข้อมูลนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่ง ให้พิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆทั้งหลายที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นและต้องคำนึงถึงความน่าจะเป็นที่จะมีเหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้น

เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงให้มากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พาไบรต้องมั่นใจว่าเขาลงทุนโดยทำให้มีการซ้ำซ้อนกันของธุรกิจน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น โดยปกติเขาจะถือหุ้นในอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงบริษัทเดียว เขาสามารถลดความเสี่ยงโดยเฉพาะของอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิผลโดยแยกการถือครองหุ้นของเขาออกมาต่างหาก

พาไบรได้สร้างพอร์ตโฟลิโออย่างง่ายๆโดยอาศัยแนวความคิดแบบตรงไปตรงมา เขาได้ขัดเกลาแนวคิดต่างๆของบัฟเฟตต์ให้เป็นกฎต่างๆที่สามารถทำตามได้อย่างง่ายๆ พาไบรได้พัฒนาออกแบบพอร์ตโฟลิโอที่จะช่วยปรับปรุงผลงานการลงทุนของนักลงทุนได้อย่างแน่นอน ซึ่งประกอบด้วย การจำกัดการถือครองหุ้นเพียงไม่กี่บริษัท ป้องกันความเสี่ยงต่อการลดค่าของดอลล่าร์ และประเมินถึงการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

ที่มา: http://www.gurufocus.com/news.php?id=8046